วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทำกินถิ่นอาเซียน : ภาคเกษตรไทยเตรียมพร้อม : โดย...อาหมัด เบ็ญอาหวัง

  นับจากนี้ไปอีก 6 วันข้างหน้า กลุ่มประเทศสมาชิกในอาเซียนกำลังจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ที่สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน คนงานที่มีฝีมือ และเงินทุนภายในอาเซียนได้อย่างเสรี ภายใต้เงื่อนไขในการรวมตัวของกลุ่มประเทศในอาเซียนจะเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี

                      ทุกประเทศเชื่อว่าจะมีการเตรียมพร้อมกันแล้ว ในส่วนของประเทศไทย ภาคการเกษตรนั้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศก่อนหน้าชัดเจนแล้วว่า ได้เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยดำเนินการตามเป้าหมายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการเป็นตลาด และฐานการผลิตเดียวกัน ซึ่งมีการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ตามพันธกรณีของประชาคมอาเซียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (เออีซี บลูปริ๊นท์) 2.ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดเพิ่มเติม

                      เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การลดภาษีและขยายโควตาสินค้าเกษตร ซึ่งดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว 2. การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ซี่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2551-2558 จำนวน 23 รายการ ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว คือ มาตรฐานสินค้าพืชสวน ที่ได้มาตรฐาน ASEAN GAP (ASEAN Good Agriculture Practice (การทำการเกษตรที่ดี)

                      ในส่วนภายในประเทศเราเอง ได้ออกกฎกระทรวงเกษตรฯ เพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องหลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นมาตรฐานบังคับฉบับแรกของประเทศไทย ที่กระทรวงเกษตรฯ ประกาศบังคับใช้ เพื่อควบคุมกระบวนการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์สำหรับผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ โดยจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป

                      ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้กระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์อย่างแพร่หลาย เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ให้คงความสดและสามารถวางจำหน่ายในตลาดได้นานขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไย ทำให้มีโอกาสที่สารชนิดนี้จะตกค้างเกินค่ามาตรฐาน อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องเร่งควบคุมกระบวนการรมเพื่อไม่ให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินกว่าข้อกำหนดตามกฎหมาย เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ และยังสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของผลไม้ไทยด้วย

                      ฉะนั้นผู้ประกอบการโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทุกขนาด ทั่วประเทศกว่า 110 แห่ง ต้องเร่งปรับตัวและเตรียมพร้อมรองรับการบังคับใช้มาตรฐานนี้ โดยผู้ประกอบการ โรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกผลไม้ ที่มีการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะต้องยื่นขออนุญาตกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรเเละอาหารแห่งชาติ หรือมกอช.ก่อน

                      เช่นเดียวกันกับโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้องขอการตรวจรับรองจากกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยตรวจ/หน่วยรับรองเอกชนที่ส่วนราชการรับรอง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 นี้

                      ขณะที่ ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการ มกอช.ก็ฝากย้ำมาว่า ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะลำไย ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน โดยเฉพาะโรงรม ห้องรม ระบบบำบัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและหลักปฏิบัติ ต้องเร่งปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดด้วย

                      ที่สำคัญต้องมีกระบวนการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์อย่างถูกต้องและถูกวิธี โดยเฉพาะโรงรมลำไยสด ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จตามกฎหมาย เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในรอบกลางปี 2559 ซึ่งจะทำให้การส่งออกลำไยสดเกิดความคล่องตัว และไม่มีปัญหาตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้นะครับ
เครดิต http://www.komchadluek.net/detail/20151225/219246.html